สถานการณ์พายุหมายเลข 10 เคลื่อนตัวออกจากเกาะคิวชู

สถานการณ์พายุหมายเลข 10 เคลื่อนตัวออกจากเกาะคิวชู

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 979 view

ตามที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นหมายเลข 10 และรายงานให้พี่น้องชาวไทยในภูมิภาคคิวชู โอกินาวะ และ จูโกะกะ ได้รับทราบเป็นระยะ นั้น

ในการนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแจ้งพัฒนาการล่าสุดของพายุหมายเลข 10 ดังนี้

1. ล่าสุด ณ เวลา 12.00 น. ของวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2563 ศูนย์กลางของพายุได้อ่อนกำลังลง โดยมีความกดอากาศที่จุดศูนย์กลาง 960 เฮกโตพาสคาล ความเร็วลมสูงสุด 35 เมตรต่อวินาที และ มีความเร็วลมกระโชกสูงสุด 50 เมตรต่อวินาที ปัจจุบัน พายุไต้ฝุ่นลูกนี้ได้เคลื่อนตัวขึ้นไปทางทิศเหนือด้วยความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ออกห่างจากเกาะคิวชู เข้าไปทางคาบสมุทรเกาหลี โดยผลจากพายุทำให้ มีปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 24 ชั่วโมง ในภูมิภาคคิวชูตอนใต้ มากถึง 300 มิลลิเมตร และ ในภูมิภาคคิวชูตอนเหนือ มีปริมาณน้ำฝนสะสมเกิน 250 มิลลิเมตร

2. นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นประกาศว่า ถึงแม้พายุไต้ฝุ่นลูกนี้ได้เคลื่อนตัวออกจากญี่ปุ่นไปแล้ว แต่เนื่องจากเป็นพายุที่มีอิทธิพลในวงกว้าง จึงทำให้ยังคงมีลมแรง คลื่นสูง และฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น จึงขอให้ประชาชนยังคงใช้ความระมัดระวังต่อไปอีกระยะหนึ่ง

3. ในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2563 นาย Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมมาตรการรับมือภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 10 โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจ หน่วยกู้ภัย กองกำลังป้องกันตนเอง เตรียมพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ และเรียกร้องให้ประชาชนระมัดระวังถึงที่สุด และคำนึงถึงชีวิตของตนเป็นสำคัญ

4. ทางการท้องถิ่นใน 7 จังหวัด ของภูมิภาคคิวชู และ 1 จังหวัดในภูมิภาคจูโกะกุ คือ จังหวัดยามากุชิ รวมทั้ง 2 จังหวัด ของภูมิภาคชิโกะกุ คือ จังหวัดเอฮิเมะ และจังหวัดโทกุชิมะ ได้ประกาศเตือนภัยระดับ 4 (ให้ประชาชนอพยพ) ในหลายพื้นที่ โดยขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อพยพไปยังศูนย์หลบภัย รวมทั้งสิ้น 780,000 ครัวเรือน หรือ ประมาณ 1.64 ล้านคน

5. จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้น ในวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2563 ณ เวลา 08.00 น. มีรายงานไฟฟ้าดับในภูมิภาคคิวชู รวม 411,510 ครัวเรือน โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ จ.คาโกชิมะ (206,090 หลัง) จ.นางาซากิ (123,980 หลัง) จ.คูมาโมโตะ (21,180 หลัง) ทางด้านภูมิภาคจูโกะกุ พบว่า จ.ยามากูจิ มีบ้านเรือนไฟฟ้าดับ รวม 87,600 หลัง เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบ และซ่อมแซม จนทำให้ไฟฟ้าเริ่มกลับมาใช้งานได้แล้วในหลายพื้นที่

6. สำนักข่าว NHK รายงานตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุพายุหมายเลข 10 ณ วันที่ 7 กันยายน เวลา 10.18 น. รวม 40 ราย ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จ.คาโกชิมะ (8 ราย) จ.มิยาซากิ (6 ราย) จ.นางาซากิ (6 ราย) จ.คูมาโมโตะ (6 ราย) จ.ฟูกูโอกะ (5 ราย) จ.โออิตะ (3 ราย) จ.ซากะ (1 ราย) จ.ยามากูจิ (4 ราย) จ.โอกายามะ (1 ราย) ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุขนาดเล็กจากการลื่นล้ม สิ่งของปลิวมาโดน หรือ รถยนต์ถูกลมพัดชนไหล่ทาง

7. นอกจากนี้ ในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2563 เกิดเหตุดินจากภูเขาถล่มในพื้นที่หมู่บ้านชิบะ จ.มิยาซากิ ทำให้มีผู้ถูกตัดขาดจากการติดต่อ 4 ราย เจ้าหน้าที่กำลังเร่งให้ความช่วยเหลือ สำหรับที่ จ.คาโกชิมะ พบว่า บ้าน 2 ชั้น ซึ่งไม่มีผู้อยู่อาศัย ในเมืองมาคุราซากิ ถูกลมพัดจนพังถล่ม ส่วนที่หมู่เกาะไดโต ใน จ.โอกินาวะ มีอาคารได้รับความเสียหายจากลมพายุ และฝนตกหนัก 8 หลัง และไร่อ้อย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของเกาะโอกินาวะได้รับความเสียหายในวงกว้าง

8. สำหรับระบบคมนาคมขนส่งนั้น ปัจจุบัน ทางด่วนเส้นทางต่าง ๆ ในเกาะคิวชูปิดให้บริการ โดยมีเส้นทางที่ปิดทั้งสาย เช่น ทางด่วนมิยาซากิ ทางด่วนมินามิคิวชู ทางด่วนโออิตะ ทางด่วนนางาซากิ และเส้นทางที่เปิดให้บริการบางส่วน เช่น ทางด่วนนิชิคิวชู ทางด่วนคิวชูชูโอ ทางด่วนฮิงาชิคิวชู นอกจากนี้ ทางด่วนชิโมโนเซกิ และทางด่วนยามากูจิ ในจังหวัดยามากูจิ ยังปิดให้บริการทั้งสายเช่นกัน

9. ส่วนรถไฟชินกังเซนนั้น สายคิวชู (เส้นทางฮากาตะ–คาโกชิมะ) และสายซันโย (เส้นทางฮากาตะ–ฮิโรชิมะ) หยุดเดินรถในวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2563 สำหรับรถไฟท้องถิ่นเส้นทางต่าง ๆ ในเกาะคิวชูหยุดให้บริการ ทุกเส้นทางในวันที่ 7 กันยายน 2563 และ ในภูมิภาคจูโกะกุ หยุดให้บริการในทุกเส้นทางในจังหวัดฮิโรชิมะ และจังหวัดยามากูจิ และ บางเส้นทางในจังหวัดชิมาเนะ

10. สำหรับการคมนาคมทางอากาศ ทุกสายการบินภายในประเทศหยุดให้บริการเที่ยวบินที่บินเข้า-ออก ภูมิภาคคิวชูและโอกินาวะ ในวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2563 รวมจำนวน 579 เที่ยวบิน

11. สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และ ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในเขตอาณาทราบและใช้ความระมัดระวัง เตรียมความพร้อม และ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด ตามช่องทางต่าง ๆ มาเป็นระยะ ทั้งนี้ จากการประสานงานกับเครือข่ายคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บ หรือ ได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์พายุดังกล่าว และ กรณีเกิดเหตุฉกเฉิน และ ต้องการความช่วยเหลือ ได้ขอให้ติดต่อ สกญ. ทางช่องทางต่าง ๆ ไว้ด้วยแล้ว

จึงขอรายงานมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ