ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เรื่อง ญี่ปุ่นประกาศขยายช่วงเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 10 จังหวัด

ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เรื่อง ญี่ปุ่นประกาศขยายช่วงเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 10 จังหวัด

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,334 view

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ขอเผยแพร่ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เรื่อง ญี่ปุ่นประกาศขยายช่วงเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 10 จังหวัด รวมถึงจังหวัดฟูกูโอกะ จนถึงวันที่ 7 มี.ค. 64

ในการนี้ โดยที่ประกาศดังกล่าวมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการระมัดระวังตัว และแนวปฏิบัติในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงขอให้ชาวไทยในภูมิภาคคิวชู โอกินาวะ และจูโกะกุ โดยเฉพาะ ผู้ที่พำนักใน จ.ฟกูโอกะ รับทราบ
และถือปฏิบัติต่อไปด้วย ดังนี้

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 นายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แถลงประกาศขยายช่วงเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564
เป็นจนถึงวันที่ 7 มีนาคม 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. พื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินลดจากเดิม 11 จังหวัด เป็น 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงโตเกียว คานากาวะ ชิบะ ไซตามะ ไอจิ กิฟุ โอซากา เกียวโต เฮียวโกะ และฟูกูโอกะ โดยไม่รวมโทจิกิ
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก

2. สาเหตุในการขยายช่วงเวลา แม้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศจะลดลงแล้ว แต่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่องต่อไป รวมไปถึงลดจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลและจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก
ทั้งนี้ หากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และสถานการณ์การให้บริการทางการแพทย์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นอาจยกเลิกมาตรการบางส่วน หรือ ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนวันที่ 7 มีนาคม 2564

3. มาตรการในช่วงขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

(1) มาตรการในช่วงขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงเป็นมาตรการเดิม เช่น หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหากไม่มีเหตุจำเป็นหรือเร่งด่วนหลัง 20.00 น. ขอความร่วมมือให้ร้านอาหารปิดให้บริการในเวลา 20.00 น.
ขอให้พนักงานทำงานจากบ้าน หรือ เหลื่อมเวลาการทำงาน เพื่อลดจำนวนผู้ที่เดินทางไปทำงานที่สำนักงานให้ได้มากกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไป อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมอีเว้นท์ได้ แต่จำนวนผู้เข้าร่วมต้องไม่เกิน 5 พันคน
หรือไม่เกินร้อยละ 50 ของความสามารถจุคนของสถานที่จัดงาน

(2) ขอความร่วมมือให้ประชาชนกินเลี้ยงสังสรรค์เฉพาะในกลุ่มสมาชิกครอบครัว หรือ ผู้ที่พบปะกันเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการพูดคุยระหว่างมื้ออาหารเท่าที่จำเป็น งดการออกนอกบ้านหากไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วน
และใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำในระหว่างการสนทนา ทั้งนี้ เนื่องจากพบกรณีการติดเชื้อผ่านการกินเลี้ยงสังสรรค์ในกลุ่มวัยรุ่นมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ อย่างไรก็ดี ในระยะหลังเริ่มพบกรณีวัยรุ่นแสดงอาการป่วยรุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน

(3) รัฐบาลญี่ปุ่นจะจัดตั้งระบบเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ด้วย

4. การแจกจ่ายวัคซีนรัฐบาลญี่ปุ่นจะเร่งเดินหน้าเพื่อให้สามารถเริ่มฉีดวัคซีนให้ได้ภายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเลื่อนขึ้นจากแผนเดิมในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยจะเริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์ก่อน
และตั้งเป้าที่จะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนเป็นหลัก และจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลและผลข้างเคียงของวัคซีนให้ประชาชนทราบด้วย

5. มาตรการด้านสาธารณสุขรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมสนับสนุนเครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (pulse oximeter) สำหรับท้องถิ่น เพื่อช่วยในการตรวจความรุนแรงของอาการและสามารถส่งตัวผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลได้ทัน
ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหลายรายที่รักษาตัวอยู่ที่บ้านอาการทรุดหนักลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตที่บ้าน

6. การแก้ไขกฎหมายการควบคุมโรคระบาดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 วุฒิสภาญี่ปุ่นได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายการควบคุมโรคระบาดเพื่อให้อำนาจทางการให้สามารถลงโทษธุรกิจและประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามการขอความร่วมมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ดังนี้

(1) โทษปรับร้านขายอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องการลดเวลาการให้บริการสูงสุดไม่เกิน 3 แสนเยน สำหรับพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 2 แสนเยน
สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด

(2) โทษปรับร้านที่ปฏิเสธมิให้ทางการเข้าตรวจการปฏิบัติตามมาตรการการแพร่ระบาดสูงสุดไม่เกิน 2 แสนเยน

(3) โทษปรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ปฏิเสธไม่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ สูงสุดไม่เกิน 5 แสนเยน

(4) โทษปรับประชาชนที่ปฏิเสธให้ความร่วมมือในการทำแบบสอบถามเกี่ยวกับช่องทางการติดเชื้อฯ สูงสุดไม่เกิน 3 แสนเยน

7. มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลเตรียมจัดตั้งระบบอนุมัติเงินกู้ชั่วคราวสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 รายละไม่เกิน 2 ล้านเยน นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ
เช่น ให้เงินสนับสนุนค่าเช่าบ้านจำนวน 3 เดือน และให้เงินช่วยเหลือภาคธุรกิจในการจ้างงานพนักงาน

8. ข้อมูลเพิ่มเติมมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่น รวมไปถึงการยกเลิกการเดินทางภายใต้ Business Track และ Residence Track ที่ญี่ปุ่นมีกับทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ รวม 11 แห่ง
ซึ่งรวมถึง Residence Track กับประเทศไทย ยังคงมีผลจนกว่าจะสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ในชั้นนี้ จนถึงวันที่ 7 มีนาคม 2564) ดังปรากฏตามเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น
https://www.mofa.go.jp/ca/fna/page4e_001053.html

ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นอาจปรับปรุงมาตรการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ท่านสามารถติดตามสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นและสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

จึงขอประกาศมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564
(นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์)
เอกอัครราชทูต

รายละเอียดตามลิงก์และเอกสารแนบ
https://www.facebook.com/rtejapan/posts/1638804716320846

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ