การสัมมนาออนไลน์เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัคร ให้คำปรึกษาหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ครั้งที่ 1

การสัมมนาออนไลน์เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัคร ให้คำปรึกษาหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ครั้งที่ 1

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 670 view

ข่าวประชาสัมพันธ์สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ
วันที่ 27 มกราคม 2564
--------------------------------
การสัมมนาออนไลน์เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัคร ให้คำปรึกษาหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ครั้งที่ 1

ด้วยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครให้คำปรึกษาหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ครั้งที่ 1
จัดโดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 เพื่อหาทางพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายอาสาสมัครในต่างประเทศ
ในการให้คำปรึกษาแก่หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล (จิตแพทย์ และอดีตนายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต)
และผู้แทนจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งมีเครือข่ายอาสาสมัครหญิงไทยในหลายประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่น จำนวน 70 คน

สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงขอสรุปสาระสำคัญที่น่าจะเป็นประโยชน์กับชาวไทยในภูมิภาคคิวชู โอกินาวะ และจูโกะกุ สำหรับการดำเนินชีวิตในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
และการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะอาสาสมัคร ดังนี้

ในช่วงแรก นายแพทย์ประเวชฯ บรรยายหัวข้อ “ความสมดุลที่ลงตัวในภาวะวิกฤต (Life Balance in Crisis)” และอธิบายรูปแบบการป้องกันการแพร่ระบาดและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19
ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยสำหรับญี่ปุ่น มีรูปแบบการควบคุมโรคควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีแนวปฏิบัติที่จะให้ผู้ติดเชื้อที่อาการไม่หนักรักษาตัวที่บ้านพัก
เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา และในยุโรป ในขณะที่ไทย มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดมากกว่า และลักษณะการแพร่ระบาดของไทยอยู่ในระลอก 2 แต่มีสัดส่วนน้อย
เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นายแพทย์ประเวชฯ เห็นว่า ขณะนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบและประสิทธิภาพของวัคซีนไม่มากนัก โดยจะทราบผลที่ชัดเจนเมื่อมีการเก็บสถิติจากผู้ฉีดวัคซีน
ในจำนวนมากพอสมควร ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติของการพัฒนาวัคซีนทุกประเภท ดังนั้น ช่วงนี้ การป้องกันตนเอง จึงยังคงมีความสำคัญ โดยแนะนำให้ประชาชนทุกคนยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย
รักษาระยะห่างทางสังคม และหมั่นล้างมือเป็นประจำต่อไป

ในช่วงท้าย นายแพทย์ประเวชฯ กล่าวว่า การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อการปรับตัวในชีวิตประจำวันกับความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม
ดังนั้น การดูแลตนเองและคนรอบข้าง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกัน ขอให้ช่วยกันให้ความช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
และถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และช่วยรับฟังและให้คำปรึกษา โดยยังคงรักษาระยะห่างอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้กล่าวถึงบทบาทของอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในต่างประเทศ ด้วยว่า อาสาสมัครชาวไทยในต่างประเทศ
มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการให้ความช่วยเหลือคนไทยประสบปัญหา จากการให้คำแนะนำ และการให้ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง
รวมทั้งการเป็นเครือข่ายประสานงานกับองค์กรท้องถิ่น และสถานเอกอัครราชทูต หรือ สถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมอาสาสมัคร แบบออนไลน์ (E-Learning) โดยผู้สนใจสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง ซึ่งรวบรวมบทเรียนต่าง ๆ
ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครในต่างประเทศ เช่น การวิเคราะห์สภาพทางสังคม การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และการประสานส่งต่อความช่วยเหลือ
การสร้างเครือข่ายอาสามัคร และการเขียนโครงการเพื่อจัดกิจกรรม เป็นต้น โดยสามารถเข้าไปศึกษาหลักสูตรดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในช่วงเวลาที่สะดวก
ทางเว็บไซต์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ http://www.sdhsvlearning.dsdw.go.th/

จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

03_อบรมเครือข่าย_อพม_1.pdf