กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ มอบถ้วย “ช้างเชียงราย” สัญลักษณ์มิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ให้นักซูโม่ผู้ชนะการแข่งขันในโอกาสครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น

กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ มอบถ้วย “ช้างเชียงราย” สัญลักษณ์มิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ให้นักซูโม่ผู้ชนะการแข่งขันในโอกาสครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ธ.ค. 2565

| 593 view

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 นายโสรัจ สุขถาวร กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้มอบหมายจากนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เพื่อเป็นผู้แทนในการมอบประกาศนียบัตรและถ้วยรางวัลมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น “ช้างเชียงราย” ให้แก่นาย HORIKIRI Kosuke นักซูโม่ชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ABI Masatora” ผู้ชนะการแข่งขันซูโม่รอบชิงชนะเลิศรายการเดือนพฤศจิกายน (November Grand Sumo Tournament Makuuchi Division Champion) ณ Fukuoka Kokusai Center จังหวัดฟูกูโอกะ

การมอบถ้วยรางวัลดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มมอบถ้วยรางวัลมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่นให้แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันซูโม่ตั้งแต่ปี 2560 ในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น และมอบต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ ได้มอบรางวัลดังกล่าวให้แก่นักซูโม่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันทั้ง 6 รายการใน 4 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น ได้แก่ กรุงโตเกียว จังหวัดโอซากา จังหวัดไอจิ และจังหวัดฟูกูโอกะ

และในโอกาสครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ในปี 2565 นี้ ได้มีการจัดทำถ้วยรางวัลฯ ขึ้นใหม่เป็นรูปปั้นช้างไทยเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิช้างเชียงราย ตัวรูปปั้นทำจากไฟเบอร์กลาส และวาดลวดลายที่สะท้อนความเป็นไทยและญี่ปุ่นได้อย่างลงตัวด้วยฝีมือของศิลปินท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย ด้านหนึ่งของรูปปั้นเป็นภาพลิงกองทัพพระรามที่กำลังปล้ำยื้อกันคล้ายกับการต่อสู้ “ซูโม่” ใต้ต้นดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำประเทศไทย ซึ่งศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากจิตรกรรมไทย “ท่าจับ” ของลิงในกองทัพพระราม ตามที่ปรากฏในสมุดภาพวรรณกรรมรามเกียรติ์ และอีกด้านของรูปปั้นเป็นภาพนักซูโม่ 2 คนกำลังปล้ำและยื้อกันใต้ต้นซากุระของญี่ปุ่น โดยมีแรงบันดาลใจจากภาพพิมพ์อูกิโยเอะที่มีชื่อเสียงซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างงดงาม

จึงขอประชาสัมพันธ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับที่_82_ปี_2565_(ฉบับปรับปรุง).pdf