การจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายญี่ปุ่นที่อำเภอญี่ปุ่น (1 ต.ค. 2565)

การจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายญี่ปุ่นที่อำเภอญี่ปุ่น (1 ต.ค. 2565)

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 มิ.ย. 2567

| 3,996 view

การจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น
(เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565)

 

*ก่อนเข้ารับบริการ กรุณาส่งเอกสารประกอบทั้งหมดมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทางอีเมล์ [email protected] โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งกลับไปภายใน 5 วันทำการ เพื่อนัดหมายในลำดับต่อไป*

 

กรณีจดทะเบียนหย่ากับชาวญี่ปุ่น

 

ขั้นตอนการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น

1. ขอจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น

2. ขอทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) 1 ชุด ที่ระบุว่าได้จดทะเบียนหย่าแล้วจากอำเภอญี่ปุ่น

3. แปลทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) เป็นภาษาอังกฤษ และนำไปประทับตรารับรองลายมือชื่อผู้แปลที่โนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) จากนั้น นำไปประทับตรารับรองที่สำนักกฎหมาย (โฮมุเคียคุ) ที่โนตารีพับลิคนั้นๆ สังกัดอยู่ แล้วจึงนำไปประทับตรารับรองจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ไกมุโช) ตามลำดับ

ปัจจุบันโนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) ในกรุงโตเกียว จ.ฮอกไกโด จ.มิยากิ จ.คานากาวะ จ.ชิซึโอกะ จ.ไอจิ นครโอซากา และจ.ฟูกูโอกะ มีบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-Stop Service) กล่าวคือ หากยื่นคำร้องที่โนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) ในจังหวัดดังกล่าว สามารถขอรับตราประทับของโนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) สำนักกฎหมาย (โฮมุเคียคุ) และกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ไกมุโช) ได้ในคราวเดียว โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สำนักกฎหมาย (โฮมุเคียคุ) และกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ไกมุโช) อีก

One-Stop Service ในจังหวัดฟูกูโอกะ https://www.koshonin.gr.jp/list/fukuoka#prefectures

 

4. แปลเอกสารทั้งหมดที่ได้รับจากหน่วยงานข้างต้น รวมทั้งทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) ที่ได้รับรองนิติกรณ์โดยหน่วยงานญี่ปุ่นตามข้อ 3. แล้ว เป็นภาษาไทย

ขั้นตอนการดำเนินการที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ 

5. นำทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) ที่ผ่านการประทับตรารับรองตามข้อ 3. แล้ว พร้อมคำแปลภาษาไทย มาขอประทับตรารับรองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ
**ให้เตรียมต้นฉบับพร้อมสำเนาเอกสารที่ได้รับรองนิติกรณ์โดยหน่วยงานญี่ปุ่นตามข้อ 3. พร้อมคำแปลภาษาไทย อย่างละ 1 ชุด**
*** หากเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง ไม่ต้องยื่นคำร้องตามข้อ 6. - ข้อ 7. ***

6. ขอทำหนังสือมอบอำนาจที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อขอบันทึกเรื่องการหย่าที่อำเภอไทย

7. ขอทำหนังสือรับรองการใช้คำนำหน้านามหญิงที่สถานกงสุลใหญ่ฯ (เฉพาะฝ่ายหญิงที่ถือสัญชาติไทย)

 

ขั้นตอนการขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า ที่ประเทศไทย

8. นำทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ประทับตรารับรองจากสถานกงสุลใหญ่ฯ  แล้ว ไปประทับตรารับรองนิติกรณ์ที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไทย

9. นำทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ผ่านขั้นตอนในข้อ 8. แล้ว ไปขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า (คร.22) ที่อำเภอไทย

10. ที่ว่าการอำเภอไทยออกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า และแก้ไขคำนำหน้านาม เปลี่ยนเป็นชื่อสกุลเดิมของตนเอง ภายหลังการหย่าในสำเนาทะเบียนบ้านไทย

11. ขอทำบัตรประจำตัวประชาชนไทยใหม่ที่อำเภอไทย และขอทำหนังสือเดินทางใหม่ที่กระทรวงการต่างประเทศไทย (กรณีที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทย สามารถยื่นคำร้องขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ และหนังสือเดินทางใหม่ ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้)

 

กรณีจดทะเบียนหย่ากับคนไทยหรือชาวต่างชาติที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น


ขั้นตอนการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น

1. ขอจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่น

2. ขอหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) 1 ชุด จากอำเภอญี่ปุ่น

3. แปลหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) เป็นภาษาอังกฤษ และนำไปประทับตรารับรองลายมือชื่อผู้แปลที่โนตารีพับลิค (โคโชนินยาคุบะ) จากนั้น นำไปประทับตรารับรองที่สำนักกฎหมาย (โฮมุเคียคุ) ที่โนตารีพับลิคนั้นๆ สังกัดอยู่ แล้วจึงนำไปประทับตรารับรองจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ไกมุโช) ตามลำดับ

4. แปลเอกสารทั้งหมดที่ได้รับจากหน่วยงานข้างต้น รวมทั้งทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) ที่ผ่านการประทับตรารับรองตามข้อ 3. แล้ว เป็นภาษาไทย

ขั้นตอนการดำเนินการที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ 

5. นำหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) ที่ผ่านการประทับตรารับรองตามข้อ 3. แล้ว พร้อมคำแปลภาษาไทย มาขอประทับตรารับรองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ 
**ให้เตรียมต้นฉบับพร้อมสำเนาเอกสารที่ได้รับรองนิติกรณ์โดยหน่วยงานญี่ปุ่นตามข้อ 3. พร้อมคำแปลภาษาไทย อย่างละ 1 ชุด**

*** หากเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง ไม่ต้องยื่นคำร้องตามข้อ 6. - ข้อ 7. ***

6. ขอทำหนังสือมอบอำนาจที่สถานกงสุลใหญ่ฯ  เพื่อขอบันทึกเรื่องการหย่าที่อำเภอไทย

7. ขอทำหนังสือรับรองการใช้คำนำหน้านามหญิงที่สถานกงสุลใหญ่ฯ  (เฉพาะฝ่ายหญิงที่ถือสัญชาติไทย)

 

ขั้นตอนการขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า ที่ประเทศไทย

8. นำหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ประทับตรารับรองจากสถานกงสุลใหญ่ฯ แล้ว ไปประทับตรารับรองนิติกรณ์ที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไทย

9. นำหนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ผ่านขั้นตอนในข้อ 8. แล้ว ไปขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า (คร.22) ที่อำเภอไทย

10. ที่ว่าการอำเภอไทยออกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว-หย่า และแก้ไขคำนำหน้าชื่อ เปลี่ยนเป็นนามสกุลเดิมของตนเอง ภายหลังการหย่าในสำเนาทะเบียนบ้านไทย

11. ขอทำบัตรประจำตัวประชาชนไทยใหม่ที่อำเภอไทย และขอทำหนังสือเดินทางใหม่ที่กระทรวงการต่างประเทศไทย (กรณีที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทย สามารถยื่นคำร้องขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ และหนังสือเดินทางใหม่ ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ  ได้)

 

 

การขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวหย่าที่ประเทศไทย


หลังจากจดทะเบียนหย่าที่อำเภอญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว และประสงค์จะขอบันทึกทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวหย่าที่อำเภอไทย สามารถกลับไปยื่นคำร้องได้ด้วยตนเองที่ประเทศไทย หากไม่สะดวกไปยื่นด้วยตนเอง สามารถขอทำหนังสือมอบอำนาจที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ โดยเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

 

1. คำร้องนิติกรณ์ (แบบฟอร์มคำร้องนิติกรณ์ขอหนังสือมอบอำนาจ)
2. หนังสือเดินทางตัวจริง พร้อมสำเนา
3. บัตรประชาชนไทย
4. สำเนาทะเบียนบ้านไทย
5. หากเคยเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล กรุณาเตรียมสำเนาใบเปลี่ยนชื่อ หรือใบเปลี่ยนนามสกุลมาด้วย
6. บัตรประจำตัวผู้พำนัก (เช่น บัตรไซริวการ์ด) พร้อมสำเนา
7. ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนฐานะแห่งครอบครัวสมรสไทย
8. ทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) หากหย่ากับคนญี่ปุ่น พร้อมสำเนา
9. หนังสือรับรองการจดทะเบียนหย่า (ริคงจุริโชเมโช) หากหย่ากับคนไทยหรือคนต่างชาติที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น พร้อมสำเนา
10. สูติบัตรบุตร หากมีบุตรด้วยกัน และบุตรมีสัญชาติไทย
11. สำเนาบัตรประชาชนไทยและทะเบียนบ้านไทยของผู้รับมอบอำนาจ 

 

ค่าธรรมเนียม
● ค่าธรรมเนียม 3,000 เยน ต่อ ตราประทับ
● ตราประทับรับรองในเอกสารแปลทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (โคเซกิโทฮง) 3,000 เยน ต่อ ตราประทับ
● หนังสือรับรองการใช้คำนำหน้าหญิง (กรณีฝ่ายหญิงถือสัญชาติไทย) 3,000 เยน ต่อ ตราประทับ
● หนังสือมอบอำนาจ 3,000 เยน ต่อ ตราประทับ

 

หมายเหตุ
● ในบางกรณีสถานกงสุลใหญ่ฯ อาจขอเอกสารจำเป็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย
● กรุณาลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารสำเนาทุกฉบับ

 

ช่องทางการติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับคำแนะนำหรือนัดหมาย

(1) โทรศัพท์ 092-739-9090 (วันจันทร์ – ศุกร์ ช่วงบ่าย ระหว่างเวลา 15.30 – 17.30 น.)

(2) อีเมล : [email protected]

(3) เฟสบุ๊ค : สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ

(4) LINE ฝ่ายกงสุล https://lin.ee/4VbpwBpjE หรือ LINE ID: @341ogqgj

 

***********************************************

สถานะวันที่ 26 มิ.ย. 2567