ตามที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ฝนตกหนักในภูมิภาคคิวชูและจูโกะกุ ระหว่างวันที่ 4 - 9 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นั้น
สถานกงสุลใหญ่ ฯ ขอสรุปพัฒนาการเพิ่มเติมของสถานการณ์ ณ วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2563 ดังนี้
1. ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ได้ปรับลดระดับการเตือนภัยของจังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคคิวชู และ จูโกะกุ เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกดีขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุด ได้ยกเลิกประกาศเตือนภัยระดับสูงในหลายจังหวัด โดยยังคงเตือนภัยเพียง ระดับ 2 – 3 ใน 8 จังหวัด ซึ่งยังมีความเสี่ยงจากกรณีฝนตกเพิ่มขึ้น ดังนี้
• ระดับ 3 (สีแดง) ได้แก่ นางาซากิ
• ระดับ 2 (สีเหลือง) ได้แก่ ฟูกูโอกะ ซากะ โออิตะ คูมาโมโตะ ยามากูจิ ฮิโรชิมะ ชิมาเนะ
2. กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นรายงานด้วยว่า อาจมีฝนตกหนักในภูมิภาคคิวชูตอนเหนือ ในช่วงค่ำของวันที่ 13 กรกฎาคม และในภูมิภาคคิวชูตอนใต้ ในช่วงบ่ายของวันที่ 14 กรกฎาคม จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังภัยจากโคลนถล่ม น้ำในแม่น้ำมีปริมาณขึ้นสูง และล้นตลิ่ง โดยเฉพาะที่ จังหวัดคูมาโมโตะ มีปริมาณฝนตก 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าปริมาณน้ำฝนสะสม ในรอบ 24 ชั่วโมง จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม ของภูมิภาคคิวชูเหนือ อยู่ที่ 200 มิลลิเมตร ภูมิภาคคิวชูใต้ 100 มิลลิเมตร และภูมิภาคจูโกะกุ 150 มิลลิเมตร ส่วนพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนสะสม ในช่วง 48 ชั่วโมง จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม ของภูมิภาคคิวชูเหนือ อยู่ที่ 200 – 300 มิลลิเมตร ภูมิภาคคิวชูใต้ 100 – 300 มิลลิเมตร และภูมิภาคจูโกะกุ 150 – 200 มิลลิเมตร
3. ในภาพรวมนับตั้งแต่มีฝนตกหนักในภูมิภาคคิวชูตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ถือว่ามีปริมาณน้ำฝนมากเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีมา เช่น เมือง Ashikita จังหวัดคูมาโมโตะ มีปริมาณน้ำฝนสูงสุด วัดได้ 326 มิลลิเมตร เช่นเดียวกับที่เมืองคาโนยะ จังหวัดคาโกชิมะ วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกที่ จังหวัดคูมาโมโตะ และ จังหวัดคาโกชิมะ ประกาศเตือนภัย ระดับสูงสุด (ระดับ 5 สีม่วง) นับตั้งแต่มีการใช้ระบบการเตือนภัย 5 ระดับ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
4. สถานีโทรทัศน์ NHK วันที่ 13 กรกฎาคม เวลา 12.29 น. รายงานสถานะล่าสุดว่า มีผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งในเกาะคิวชู และในเขตภาคตะวันออกของญี่ปุ่น รวม 7 จังหวัด จำนวน 72 ราย โดยจังหวัดคูมาโมโตะ มีจำนวนมากที่สุด คือ 64 ราย ฟูกูโอกะ 2 ราย เอฮิเมะ 2 ราย โออิตะ 1 ราย นางาซากิ 1 ราย ชิสุโอกะ 1 ราย และนากาโนะ 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้สูญหายที่กำลังค้นหากันอยู่อีก 13 ราย จาก จังหวัดคูมาโมโตะ 6 ราย โออิตะ 5 ราย คาโกชิมะ 1 ราย และโทยามะ 1 ราย
5. ด้านความเดือนร้อนของผู้ประสบภัยและความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน พบว่า ยังคงมีประชาชนกว่า 300 คน จากหมู่บ้านต่าง ๆ รวม 10 หมู่บ้าน ในจังหวัดคูมาโมโตะ ถูกตัดขาดจากภายนอก เนื่องจากน้ำท่วม ไฟฟ้าดับ และน้ำประปาหยุดไหล ขณะนี้หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด เร่งให้ความช่วยเหลือ โดยจัดส่งสิ่งของจำเป็นทางเรือยาง และ เฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งซ่อมแซมถนนให้กลับมา
ใช้งานโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า มีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำท่วม ประมาณ 14,000 หลัง ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ เสียหายทั้งหลัง รวม 564 หลัง ส่วนใหญ่อยู่ใน จังหวัดคูมาโมโตะ
6. นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เร่งระดมกำลังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยคำนึงถึงหลักการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัดไปด้วย โดยในการรับสมัครอาสาสมัครเข้าไปกู้ภัยที่จังหวัดคูมาโมโตะ จะรับเฉพาะผู้ที่อาศัยในจังหวัดนี้เท่านั้น สำหรับอาสาสมัครจากจังหวัดอื่น อาจได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ เพื่อจัดส่งเครื่องอุปโภคและบริโภค หรือ ปฏิบัติภารกิจระยะสั้น และจะต้องออกนอกพื้นที่ทันทีที่เสร็จสิ้นการปฏิบัติงาน
7. ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ได้เดินทางไปสำรวจความเสียหายที่หมู่บ้านคูมะ จังหวัดคูมาโมโตะ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 กรกฎาคม พร้อมกับแสดงความอาลัยต่อผู้ที่สูญเสียชีวิต บริเวณหน้าบ้านพักคนชรา Senjuen ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากฝนตกหนักครั้งนี้ถึง 14 ราย และใช้โอกาสนี้ หารือกับนาย Ikuo Kabashima ผู้ว่าราชการจังหวัดคูมาโมโตะ และผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และบูรณาการมาตรการฟื้นฟูความเสียหายโดยเร็ว โดยย้ำว่า รัฐบาลกลางจะให้ความช่วยเหลือทุกพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการจัดเตรียมที่อยู่ชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยที่บ้านเรือนได้รับความเสียหาย และ สนับสนุนจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ให้เร็วที่สุด
8. สำหรับเส้นทางคมนาคมและระบบขนส่งสาธารณะหลายพื้นที่ ได้ทยอยกลับคืนสู่สภาพปกติตามลำดับ อย่างไรก็ตาม โดยที่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องอยู่บ้างในภูมิภาคคิวชู และ จูโกะกุ ทางการ
จึงแนะนำประชาชนให้วางแผนการเดินทางล่วงหน้า รวมทั้งตรวจสอบสภาพอากาศ สภาพถนน และระมัดระวังการขับขี่รถยนต์โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตก สำหรับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ขอให้ตรวจสอบตารางเวลาของรถโดยสารประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน ก่อนการเดินทาง เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือ ล่าช้ากว่ากำหนด
9. ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานความสูญเสียของคนไทยในพื้นที่ โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ขอความร่วมมือคนไทยในภูมิภาคคิวชู จูโกะกุ และ โอกินาวะ ทั้ง 13 จังหวัด ติดตามข่าวสาร และรายงานสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง ต่อไปอีกระยะหนึ่ง และกรณีฉุกเฉิน หรือ มีอุปสรรคใด ๆ สามารถติดต่อแจ้งเหตุ ไปยังสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่โทรศัพท์ “สายด่วนกงสุล (hotline)” หมายเลข 090-2585-3027 และ 090-9572-1515
จึงขอประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน