วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ตามที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ฝนตกหนักในภูมิภาคคิวชูและจูโกะกุ ระหว่างวันที่ 4 - 8 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นั้น
สถานกงสุลใหญ่ ฯ ขอสรุปพัฒนาการเพิ่มเติมของสถานการณ์ ณ วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2563 ดังนี้
1. เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นแถลงว่า มีกลุ่มเมฆฝนเริ่มเข้ามาปกคลุมประเทศญี่ปุ่นเป็นบริเวณกว้าง ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ส่งผลให้มีโอกาสที่ฝนจะตกหนักอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม และ ต่อเนื่องถึงวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม คาดว่าปริมาณฝนตกโดยเฉลี่ยมีประมาณ 50 มิลลิเมตร ต่อ ชั่วโมง โดยเฉพาะในภูมิภาคคิวชูตอนบน ซึ่งหลายเมืองยังคงต้องเฝ้าระวังดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง ฟ้าผ่า ลมแรง พายุหมุน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ปรับระดับเตือนภัยจังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคคิวชู และ จูโกะกุ ใหม่ ดังนี้
• ระดับ 4 (สีม่วง) ได้แก่ จังหวัดฟูกูโอกะ นางาซากิ ซากะ คูมาโมโตะ
• ระดับ 3 (สีแดง) ได้แก่ จังหวัดคาโกชิมะ โออิตะ ฮิโรชิมะ
• ระดับ 2 (สีเหลือง) ได้แก่ จังหวัดมิยาซากิ โอกินาวะยามากูจิ ทตโตริ ชิมาเนะโอกายามะ
2. คาดว่าปริมาณน้ำฝนสะสม ในรอบ 24 ชั่วโมง จนถึงเช้าวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม ของภูมิภาคคิวชูเหนือ มีประมาณ 250 มิลลิเมตร ภูมิภาคคิวชูใต้ อยู่ที่ 200 มิลลิเมตร และภูมิภาคจูโกะกุ ประมาณ 100 มิลลิเมตร ส่วนพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 48 ชั่วโมง จนถึงวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม ของภูมิภาคคิวชูเหนือ อยู่ที่ 300-400 มิลลิเมตร ภูมิภาคคิวชูใต้ อยู่ที่ 250–350 มิลลิเมตร และ ภูมิภาคจูโกะกุ อยู่ที่ 100-150 มิลลิเมตร
3. จังหวัดต่าง ๆ ได้ประมวลความเสียหายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ล่าสุดจากข้อมูลสถานีโทรทัศน์ NHK วันที่ 9 กรกฎาคม เวลา 15.54 น. รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฝนตกหนักในครั้งนี้ รวม 62 ราย จากจังหวัดคูมาโมโตะ 58 ราย ฟูกูโอกะ 2 ราย โออิตะ 1 ราย ชิสุโอกะ 1 ราย ผู้สูญหาย รวม 17 ราย จากจังหวัดคูมาโมโตะ 10 ราย โออิตะ 6 ราย คาโกชิมะ 1 ราย และมีอาการสาหัส 2 ราย จากจังหวัดคูมาโมโตะ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กู้ภัยเมืองต่าง ๆ ได้ระดมกำลังค้นหาผู้ประสบภัย 4 ราย ซึ่งยังคงติดอยู่ในรถยนต์ที่ถูกน้ำพัดตกลงไปในแม่น้ำฮานะอาวะเซโนะ ในเมืองยูฟูอิน จังหวัดโออิตะ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และได้ขยายพื้นที่ค้นหาให้กว้างขึ้น เพื่อสำรวจความเสียหายด้านต่าง ๆ อย่างครอบคลุมให้มากที่สุด
4. พื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคคิวชูและจูโกะกุ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากฝนตกหนัก และ น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง โดยทางการท้องถิ่นยังคงเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน และสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่
4.1 จังหวัดฟุกูโอกะ : เมืองโอมุตะ เมืองคุรุเมะ และพื้นที่โดยรอบแม่น้ำ Chikugo
4.2 จังหวัดโออิตะ : เมืองฮิตะ เมืองยูฟุ และพื้นที่โดยรอบแม่น้ำ Oita
4.3 จังหวัดคูมาโมโตะ : เมืองยามากะ เมืองยาสึชิโระ เมืองอาชิคิตะ เมืองสึนากิ เมืองฮิโตโยชิ หมู่บ้านคูมะ และพื้นที่โดยรอบแม่น้ำ Kuma
4.4 จังหวัดคาโกชิมะ : เมืองมินามิ-ซาสึมะ
5. กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น สรุปความเสียหายของโรงพยาบาลและบ้านพักคนชราในภูมิภาคคิวชู พบว่า โรงพยาบาลอย่างน้อย 14 แห่ง และบ้านพักคนชรา อีก 76 แห่ง ไฟฟ้าดับและน้ำประปาไม่ไหล เนื่องจากน้ำท่วม โดยเร่งส่งรถขนน้ำเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และทยอยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและคนชราไปยังโรงพยาบาลและบ้านพักคนชราในพื้นที่อื่นเพื่อให้การดูแลแทน รวมทั้งส่งคณะแพทย์กู้ภัย รวม 96 คณะ เข้าไปในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่ จังหวัดคูมาโมโตะ ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
6. ถนนสายหลักในจังหวัดต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมจากน้ำท่วมขัง และโคลนถล่มหลายจุด ทางด่วนคิวชู เส้นทางระหว่างเมือง Kusu กับ เมือง Yufuin ในจังหวัดโออิตะ ยังปิดให้บริการ โดยบริษัท West Nippon Expressway Service ที่บริหารทางด่วนเปิดเผยว่า ยังไม่สามารถยืนยันช่วงเวลาของการซ่อมแซมว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด อย่างไรก็ตาม รถโดยสารประจำทางข้ามจังหวัดต่าง ๆ ได้ทยอยเปิดให้บริการแล้ว โดยในบางเส้นทาง อาจใช้เวลาเดินทางนานกว่าปกติ เนื่องจากต้องใช้เส้นทางอ้อมพื้นที่ที่ถนน หรือ ทางด่วนยังปิดซ่อมแซม
7. รถไฟด่วนพิเศษชินคันเซนในภูมิภาคคิวชู ทยอยเปิดให้บริการตามปกติ โดยลดจำนวนเที่ยววิ่งในบางเส้นทาง เช่น เส้นทางระหว่างจังหวัดคูมาโมโตะ กับ จังหวัดคาโกชิมะ สำหรับรถไฟของบริษัท JR ปิดให้บริการบางช่วงในหลายเส้นทาง เนื่องจากดินถล่มบริเวณรางรถไฟ และรางรถไฟบนสะพานข้ามแม่น้ำเสียหายหลายจุด เช่น สาย Kagoshima Main Line ระหว่างสถานี Hainuzuka (จังหวัดฟูกูโฮกะ) กับ สถานี Ueki (จังหวัดคูมาโมโตะ) / สถานี Sendai (จังหวัดคาโกชิมะ) กับ สถานี Kagoshima-chuo / และ สถานี Mukainoharu (จังหวัดโออิตะ) กับ สถานี Hita (จังหวัดโออิตะ)
8. เที่ยวบินภายในประเทศของสายการบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังเปิดให้บริการ โดยประกาศข้อมูลบนเว็บไซต์ว่า กำหนดการบินอาจล่าช้า หรือ มีการปรับกำหนดการ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ผู้โดยสารจึงควรตรวจสอบกับสายการบินเป็นระยะ ๆ ก่อนการเดินทาง
9. สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานข้อมูลกับผู้แทนชุมชนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ มาโดยตลอด เพื่อให้รับทราบข่าวสารและใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุด เช่น นักเรียนไทยในโรงเรียนมัธยมปลายเมืองยานากาวะ จังหวัดฟูกูโอกะ ผู้แทนสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนทญ.) ผู้แทนนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเกาะคิวชูและภูมิภาคจูโกะกุ ตลอดจนกลุ่มคนไทยที่เป็นคู่สมรสชาวญี่ปุ่น หรือ ทำงานในเขตอาณา ซึ่งช่วยเป็นเครือข่ายสำคัญ ในการกระจายข้อมูลข่าวสารของสถานกงสุลใหญ่ฯ ให้คนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ได้รับทราบอย่างทั่วถึง ในชั้นนี้ ยังไม่มีรายงานความสูญเสียของคนไทยในเขตอาณา
ทั้งนี้ หากมีกรณีฉุกเฉิน และ มีอุปสรรคใด ๆ สามารถติดต่อแจ้งเหตุ ไปยังสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่โทรศัพท์ “สายด่วนกงสุล (hotline)” หมายเลข 090-2585-3027 และ 090-9572-1515
จึงขอประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
รูปภาพประกอบ
วันจันทร์ - วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ)
เวลาให้บริการ 9.30 - 11.30 น. และ 13.30 - 15.00 น.
เวลาทำการ 9.00 - 12.00 น. และ 13.30 - 17.30 น.
ช่องทางการติดต่อ
◦ ฝ่ายกงสุล (งานหนังสือเดินทาง บัตรประชาชน นิติกรณ์เอกสาร การตรวจลงตรา และอื่น ๆ)
โทร : 092-739-9090 (15.30 - 17.30 น.)
Email : [email protected]
◦ สำนักงาน
โทร : 092-739-9088
แฟกซ์ : 092-739-9089
Email : [email protected]
>> กรณีฉุกเฉิน ติดต่อ 090-2585-3027 หรือ 090-9572-1515 (สำหรับคนไทยขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) <<