วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ตามที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ฝนตกหนักในภูมิภาคคิวชูและจูโกะกุ ระหว่างวันที่ 4 - 6 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นั้น
สถานกงสุลใหญ่ ฯ ขอแจ้งพัฒนาการเพิ่มเติมของสถานการณ์ ดังนี้
1. กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ได้แถลงเมื่อวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2563 (ณ เวลา 14.52 น.) ปรับลดระดับเตือนภัยในจังหวัดฟูกูโอกะ ซากะ นางาซากิ คูมาโมโตะ โออิตะ และ ฮิโรชิมะ เป็น “เตือนภัยระดับ 4 (สีม่วง)” จากที่เคยเตือน ระดับ 5 และลดระดับเตือนภัยใน จังหวัดคาโกชิมะ มิยาซากิ และ ยามากูจิ เป็น“เตือนภัยระดับ 3 (สีแดง)” และ ระดับ “เตือนภัยระดับ 2 (สีเหลือง)” สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ จังหวัดทตโตริ ชิมาเนะ โอกายามะ และ โอกินาวะ เพื่อให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ ระมัดระวัง และเตรียมความพร้อม หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
2. กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังและมีความเสี่ยงจากเหตุการณ์ดินถล่มในภูมิภาคคิวชูและจูโกะกุ ได้แก่ ฟูกูโอกะ ซากะ นางาซากิ คูมาโมโตะ โออิตะ ส่วนจังหวัดในภูมิภาคอื่นได้แก่ เอฮิเมะ นาระ ชิสุโอกะ และ นากาโนะ และจังหวัดที่อาจเกิดอันตรายจากน้ำล้นตลิ่งเข้ามาท่วมบ้านเรือน ได้แก่ ฟูกูโอกะ ซากะ โออิตะ คูมาโมโตะ และ ยามากูจิ คาดว่าปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 24 ชั่วโมง จนถึงเช้าวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563 ในภูมิภาคคิวชูตอนเหนือ ประมาณ 250 มิลลิเมตร และสำหรับภูมิภาคคิวชูตอนใต้ และ ภูมิภาคจูโกะกุ ประมาณ 150 มิลลิเมตร ส่วนพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 48 ชั่วโมง จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม ของภูมิภาคคิวชูตอนเหนือ อยู่ที่ 250-350 มิลลิเมตร ภูมิภาคคิวชูตอนใต้ อยู่ที่ 200-300 มิลลิเมตร และภูมิภาคจูโกะกุ ที่ 150-200 มิลลิเมตร
3. นอกจากนี้ยังมีพยากรณ์อากาศเพิ่มเติมว่า อาจมีฝนตกหนักต่อไปอีกจนถึงช่วงเช้าของวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 โดยเมฆฝนรวมกลุ่มที่บริเวณช่องแคบ Tsushima-Kaikyo ส่งผลให้ภูมิภาคคิวชูตอนบน โดยเฉพาะที่จังหวัดซากะ อาจมีฝนตกหนักรุนแรงต่อเนื่อง มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยฉับพลันและดินถล่มได้ นอกจากนี้ แม่น้ำที่มีประกาศเตือนภัยความเสี่ยงน้ำท่วมสูง (ระดับ 4) ได้แก่ แม่น้ำ Chikugo และแม่น้ำ Yamanoi ในจังหวัดฟูกูโอกะ แม่น้ำ Kiyama ในจังหวัดคูมาโมโตะ และ แม่น้ำ Shozu จังหวัดซากะ
4. จังหวัดฟูกูโอกะ คูมาโมโตะ นางาซากิ โออิตะ ประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมกว่า 577,000 ครอบครัว หรือประมาณ 1.27 ล้านคน หาทางอพยพไปยังที่ปลอดภัย และ จังหวัดฮิโรชิมะ ได้เตรียมศูนย์อพยพ เพื่อรองรับผู้ประสบภัยในพื้นที่เสี่ยง 56,754 ครัวเรือน หรือประมาณ 124,710 คน ด้วยแล้ว
5. จากการสำรวจความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฝนตกหนักในครั้งนี้ ล่าสุด มีผู้เสียชีวิต รวม 53 ราย ในจังหวัดคูมาโมโตะ (51 ราย) จังหวัดฟูกูโอกะ (1 ราย จากเมืองโอมุตะ) และจังหวัดชิสุโอกะ (1 ราย) ผู้สูญหาย 13 ราย ในจังหวัดคูมาโมโตะ (11 ราย) จังหวัดคาโกชิมะ (1 ราย จากเมือง Minami satsuma) และจังหวัดโออิตะ (1 ราย) และมีผู้ป่วยอาการสาหัส จำนวน 2 ราย ในจังหวัดคูมาโมโตะ (ข้อมูลจาก NHK ณ เวลา 16.47 น.)
6. เมืองต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากฝนตกหนักและน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งยังต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง และต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟู ได้แก่
6.1 จังหวัดฟุกูโอกะ : เมืองโอมุตะ เมืองคุรุเมะ เมืองยาเมะ เมืองมิยามะ
6.2 จังหวัดนางาซากิ : เมืองนางาซากิ เมืองโอมูระ เมืองไซไก
6.3 จังหวัดซากะ : เมืองคาชิมะ เมืองอุเรชิโนะ
6.4 จังหวัดโออิตะ : เมืองฮิตะ เมืองโคโคโนเอะ เมืองยูฟุ เมืองอุสะ เมืองคุสะ
6.5 จังหวัดคูมาโมโตะ : เมืองฮิโตโยชิ เมืองยาซึชิโระ เมืองซึนากิ เมืองอะชิคิตะ หมู่บ้านคูมะ
7. สำหรับผลกระทบอื่น ๆ : โรงงานผลิตรถยนต์ในภูมิภาคคิวชูและจูโกะกุหลายแห่ง หยุดการผลิตในช่วงเช้าของวันที่ 7 กรกฎาคม เพื่อความปลอดภัยของพนักงาน เช่น บริษัท Mazda ประกาศปิดโรงงานชั่วคราวสำหรับสาขาใหญ่ในจังหวัดฮิโรชิมะ และโรงงานในเมือง Hofu จังหวัดยามากูจิ ในขณะที่ บริษัท โตโยตา มอเตอร์ คิวชู หยุดสายการผลิตโรงงานทั้ง 3 แห่งในจังหวัดฟูกูโอกะ นอกจากนี้ กิจการอื่น ๆ ที่หยุดกิจการชั่วคราว ได้แก่ บริษัท Mitsui Chemicals บริษัท Denka บริษัท Mitsui Mining & Smelting ในเมือง Omuta โรงงานผลิตเบียร์ Sapporo ในเมือง Hita โรงงานผลิตเบียร์ Kirin ในเมือง Asakura โรงงานผลิตมายองเนสของบริษัท Kewpie ในเมือง Tosu โรงงานผลิตยางรถยนต์ของ Bridgestone ทั้ง 3 แห่งในเมือง Kurume เมือง Asakura และเมือง Tosu ส่วนธนาคารและสถาบันการเงินที่สำคัญใน จังหวัดฟูกูโอกะ โออิตะ และคูมาโมโตะ ปิดให้บริการชั่วคราวในสาขาต่าง ๆ เช่น ธนาคาร Higo ธนาคาร Kumamoto ธนาคาร Fukuoka ธนาคาร Chikuho ธนาคาร Nishi-Nippon City และ ธนาคาร Oita
8. นาย Yoshihide SUGA เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แถลงข่าวในช่วงเช้าของวันที่ 7 กรกฎาคมว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ที่ประสบภัย และประสานการใช้งบประมาณเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่เสียหาย รวมทั้งช่วยเยียวยาบริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในศูนย์อพยพ ได้รับรายงานว่า ทุกศูนย์อพยพยังสามารถปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดได้ ซึ่งทางรัฐบาลกลางจะเร่งส่งวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นไปยังทุกศูนย์เพื่อให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างเต็มที่
9. ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ได้แถลงข่าวในช่วงเที่ยงของวันที่ 7 กรกฎาคม หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมประสานงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเกี่ยวกับสถานการณ์ว่า ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน ทั้งตำรวจ หน่วยกู้ภัย และกองกำลังรักษาประเทศ ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และเร่งค้นหาผู้สูญหายอย่างเต็มกำลัง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนยังคงระมัดระวังสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากจะยังมีฝนตกหนักทั่วประเทศไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2563 และรัฐบาลกลางได้เร่งให้หน่วยงานตรวจสอบความเสียหาย เพื่อพิจารณาประกาศให้เป็น "สถานการณ์ภัยพิบัติร้ายแรง" เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายกำกับดูแลการใช้งบประมาณฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วต่อไป
10. สำหรับระบบคมนาคมขนส่งนั้น ถนนสายหลักในหลายเมืองของจังหวัดฟูกูโอกะ นางาซากิ ซากะ ฮิโรชิมะ ยังคงปิดการจราจรในบางช่วง เนื่องจากมีโคลนถล่ม สะพานขาด และน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่วนเส้นทางรถไฟชินกันเซ็น ระหว่างจังหวัดคูมาโมโตะ – จังหวัดคาโกชิมะ ยังคงหยุดให้บริการ โดยเส้นทาง ฮากาตะ (จังหวัดฟูกูโอกะ) ไปยังนครโอซากา ได้เปิดให้บริการตามปกติ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 7 กรกฎาคม สำหรับรถไฟของบริษัท JR ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ฝนตกหนัก ได้ลดจำนวนเที่ยวในบางเส้นทาง นอกจากนี้ รถโดยสารระหว่างจังหวัดยังคงได้รับผลกระทบจากการที่ทางด่วนบนเกาะคิวชูปิดเส้นทางหลายสาย เช่น ทางด่วนคิวชูตั้งแต่ Ebino ถึง Hitoyoshi ทางด่วนนางาซากิ ตั้งแต่ Nagasaki ถึง Ureshino ทางด่วนโออิตะ ตั้งแต่ Tosu ถึง Oita เป็นต้น
11. ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานความสูญเสียของคนไทยในพื้นที่ โดยสถานกงสุลใหญ่ ฯ ได้ประสานตัวแทน คนไทยในทุกจังหวัดของภูมิภาคคิวชูและจูโกะกุ ให้ติดตามข่าวสาร และการรายงานสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง และขอให้ใช้ความระมัดระวังต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ หากมีกรณีฉุกเฉิน และ มีอุปสรรคใด ๆ สามารถติดต่อแจ้งเหตุ ไปยังสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่โทรศัพท์ “สายด่วนกงสุล (hotline)” หมายเลข 090-2585-3027 และ 090-9572-1515
จึงขอประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
รูปภาพประกอบ
วันจันทร์ - วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ)
เวลาให้บริการ 9.30 - 11.30 น. และ 13.30 - 15.00 น.
เวลาทำการ 9.00 - 12.00 น. และ 13.30 - 17.30 น.
ช่องทางการติดต่อ
◦ ฝ่ายกงสุล (งานหนังสือเดินทาง บัตรประชาชน นิติกรณ์เอกสาร การตรวจลงตรา และอื่น ๆ)
โทร : 092-739-9090 (15.30 - 17.30 น.)
Email : [email protected]
◦ สำนักงาน
โทร : 092-739-9088
แฟกซ์ : 092-739-9089
Email : [email protected]
>> กรณีฉุกเฉิน ติดต่อ 090-2585-3027 หรือ 090-9572-1515 (สำหรับคนไทยขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) <<