สถานการณ์ฝนตกหนักในภูมิภาคคิวชู

สถานการณ์ฝนตกหนักในภูมิภาคคิวชู

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 573 view
ตามที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ฝนตกหนักในภูมิภาคคิวชู โดยเฉพาะที่จังหวัดคูมาโมโตะ จังหวัดคาโกชิมะ และจังหวัดมิยาซากิ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นั้น
 
สถานกงสุลใหญ่ ฯ ขอแจ้งพัฒนาการเพิ่มเติมของสถานการณ์ ดังนี้
 
1. ตั้งแต่ช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2563 มีรายงานว่าปริมาณฝนตกหนักทางภาคใต้ของภูมิภาคคิวชูมีแนวโน้มลดลง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นประกาศปรับลดระดับการเตือนภัย จากระดับ “เตือนภัยพิเศษ (สีม่วง)” ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เป็นระดับ “เตือนภัย (สีแดง)” อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งเตือนว่าในช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม จะมีฝนตกหนักอีกครั้ง เนื่องจากมีเมฆฝนปกคลุม ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกถึงฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น ปะทะกับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมภาคใต้ของเกาะคิวชู จึงขอให้ประชาชนระวังการเกิดดินถล่ม โดยเฉพาะในหลายเมืองของจังหวัดคูมาโมโตะที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำ ควรเพิ่มความระมัดระวัง และเตรียมความพร้อมเป็นพิเศษ
 
2. กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นคาดว่า จะมีฝนตกต่อเนื่องไปอีกจนถึงวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2563 โดยบางพื้นที่อาจมีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 50 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง โดยพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วง 24 ชั่วโมง จนถึงเช้าวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ของภูมิภาคคิวชูตอนใต้ อยู่ที่ 200 มิลลิเมตร และภูมิภาคคิวชูตอนเหนืออยู่ที่ 100 มิลลิเมตร ส่วนพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วง 48 ชั่วโมง จนถึงเช้าวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2563 ของภูมิภาคคิวชูตอนใต้ อยู่ที่ 300-400 มิลลิเมตร และภูมิภาคคิวชูตอนเหนือ อยู่ที่ 200-400 มิลลิเมตร
 
3. จากการสำรวจความเสียหายในเบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มใน จ.คูมาโมโตะ รวม 20 คน อาการสาหัส 14 คน สูญหาย 14 คน (สถิติจากสำนักข่าว NHK ณ เวลา 17.00 น.) โดยผู้สูญหายมาจากเมืองต่าง ๆ ใน จ.คูมาโมโตะ เช่น หมู่บ้าน Kuma 5 คน เมือง Hitoyoshi 3 คน เมือง Tsunaki 2 คน เมือง Ashikita 3 คน เมือง Nishiki 1 คน นอกจากนี้ พบว่ามีไฟฟ้าดับ น้ำประปาไม่ไหล และสัญญาณโทรศัพท์ขัดข้องในบางพื้นที่ของ จ.คูมาโมโตะ โดยเฉพาะที่เมือง Kuma เมือง Yatsushiro และ Ashikita มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 6,100 ครัวเรือน บ้านพักคนชรา Senjuen ในเขต Kuma-mura ถูกน้ำท่วมขัง มีผู้สูงอายุและพนักงานประมาณ 50 คนติดอยู่ ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยอาการสาหัส (ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว) 14 คน
 
4. ทางด้านนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ได้แถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 2563 ว่า ได้สั่งการให้บุคลากรจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ กองกำลังป้องกันตนเอง ตำรวจ หน่วยกู้ภัย รวม 10,000 นาย ร่วมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และค้นหาผู้สูญหาย จากเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มครั้งนี้ โดยย้ำให้รัฐบาลท้องถิ่นระมัดระวังเรื่องการจัดสถานที่อพยพในแต่ละพื้นที่ ให้มีมาตรการป้องกันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม กองกำลังป้องกันตนเอง และตำรวจ ได้ใช้เรือยาง และใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในหมู่บ้าน Kuma จังหวัดคูมาโมโตะ ซึ่งไฟฟ้าดับ และเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด และทยอยนำออกมาพำนักที่ศูนย์อพยพชั่วคราวแล้ว ทั้งนี้ จังหวัดคูมาโมโตะ ได้จัดเตรียมศูนย์อพยพในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งหมด 118 แห่ง และมีผู้เข้าพัก รวม 1,615 คน
 
5. สำหรับระบบคมนาคมขนส่งนั้น ปัจจุบัน ทางด่วนเส้นทางต่าง ๆ ในเกาะคิวชูตอนใต้ กลับมาเปิดให้บริการบ้างแล้ว แต่ลดจำนวนเลนสำหรับรถวิ่งในบางช่วง สำหรับถนนเส้นหลักในหลายเมืองของจังหวัดคูมาโมโตะ เช่น สาย 3 สาย 219 สาย 447 สาย 135 และสาย 144 ยังปิดการจราจรหลายจุด เนื่องจากมีโคลนถล่มจากฝนตกหนัก สะพานขาด และถนนยุบ ส่วนเส้นทางรถไฟนั้น พบว่ารถไฟชินกังเซน เส้นทางคูมาโมโตะ-คาโกชิมะ ลดจำนวนเดินรถในวันที่ 5 ก.ค. 63 สำหรับรถไฟเส้นทางเขตฮากาตะ (จังหวัดฟูกูโอกะ) ถึงจังหวัดคูมาโมโตะ เปิดให้บริการตามปกติ ส่วนรถไฟท้องถิ่นเส้นต่าง ๆ ในจังหวัดคูมาโมโตะ และจังหวัดคาโกชิมะ ยังหยุดให้บริการชั่วคราว ในหลายเส้นทาง หรือ ล่าช้ากว่ากำหนดการปกติซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ฝนตกหนักที่ผ่านมา
 
ในการนี้ แม้ยังไม่มีรายงานความเสียหายเกี่ยวกับคนไทยในภูมิภาค แต่สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอให้คนไทย โดยเฉพาะที่พำนักใน จังหวัดคูมาโมโตะ จังหวัดคาโกชิมะ และ จังหวัดมิยาซากิ ใช้ความระมัดระวัง และ ติดตามข่าวสาร และการรายงานสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากมีกรณีฉุกเฉิน และมีอุปสรรคใด ๆ สามารถติดต่อแจ้งเหตุไปยังสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ ที่โทรศัพท์ “สายด่วนกงสุล (hotline)” หมายเลข 090-2585-3027 และ 090-9572-1515
 
จึงขอประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ