สถานการณ์ฝนตกหนักในภาคเหนือของคิวชู

สถานการณ์ฝนตกหนักในภาคเหนือของคิวชู

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 555 view

ตามที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ รายงานสถานการณ์เหตุฝนตกหนักในพื้นที่ทางภาคเหนือของเกาะคิวชู ได้แก่ จังหวัดฟูกูโอกะ ซากะ และนางาซากิ รวมทั้งแจ้งการเตือนภัยให้กับคนไทยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นั้น

สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแจ้งพัฒนาการล่าสุดของสถานการณ์ ดังนี้

1. ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2562 สถานการณ์ฝนตกหนักในบริเวณภาคเหนือของเกาะคิวชูเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ทางการท้องถิ่นหลายแห่งได้ประกาศยกเลิกการเตือนภัยฉุกเฉิน และยกเลิกการขอให้ประชาชนอพยพแล้ว แต่โดยที่ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมาก ทำให้พื้นดินอุ้มน้ำ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มได้ จึงขอให้ประชาชนในทุกพื้นที่ยังคงเฝ้าระวัง แม้ว่าฝนได้หยุดตกแล้วก็ตาม โดยเฉพาะที่เมืองซากะ คาราสึ ทากุ และโอกิ ในจังหวัดซากะ

2. จากการสำรวจความเสียหายในเบื้องต้น พบว่า จ. ซากะ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ในบางพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลจุนเท็นโด ในเมืองโอมาชิ ที่มีน้ำท่วมขังสูงกว่า 70 – 80 เซ็นติเมตร ทำให้มีผู้ป่วยติดอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 215 คน นอกจากนี้ ยังพบน้ำมันรั่วไหลจากโรงงานเหล็กที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับโรงพยาบาลดังกล่าวกว่า 114,000 ลิตร ซึ่งขณะนี้ทางการท้องถิ่นของญี่ปุ่นได้ระดมกำลังเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย และแก้ไขปัญหาโดยสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานสรุปจำนวนผู้เสียชีวิตชาวญี่ปุ่นจากเหตุการณ์ฝนตกหนักครั้งนี้ มี 3 ราย ได้แก่ ที่จังหวัดซากะ 2 ราย และที่จังหวัดฟูกูโอกะ 1 ราย

3. ขณะนี้ระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะในจังหวัดฟูกูโอกะ ซากะ และนางาซากิ กลับมาให้บริการตามปกติ ยกเว้นรถไฟด่วนเส้นทางระหว่างฟูกูโอกะกับ Huis Ten Bosch จังหวัดนางาซากิ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในเมืองซาเซโบะ จังหวัดนางาซากิ หยุดให้บริการชั่วคราวต่อไปอีกระยะหนึ่ง

4. สถานกงสุลใหญ่ฯ จึงขอให้คนไทยในพื้นที่ประสบภัยยังคงใช้ความระมัดระวัง และติดตามข่าวสาร และการรายงานสภาพภูมิอากาศไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ นับจากนี้ไปจนถึงช่วงเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม 2562 จะเข้าสู่ฤดูพายุไต้ฝุ่นของญี่ปุ่น ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ฝนตกหนัก ลมพายุพัดแรง และคลื่นทะเลสูงได้อีก ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ จะติดตามสถานการณ์ และแจ้งให้ชาวไทยที่พำนักในเขตอาณาทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป ทั้งนี้ หากมีกรณีฉุกเฉินใด ๆ สามารถติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ที่โทรศัพท์สายด่วนกงสุล (hotline) หมายเลข 090-2585-3027 และ 090-9572-1515

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ


เครดิตภาพ: กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น และสำนักข่าว NHK

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ