แฟชั่นโชว์และนิทรรศการผ้าไทย “Thai Textile: A Touch of Thai”

แฟชั่นโชว์และนิทรรศการผ้าไทย “Thai Textile: A Touch of Thai”

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,102 view
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมจัดแฟชั่นโชว์และนิทรรศการผ้าไทย หัวข้อ “Thai Textile: A Touch of Thai” เป็นครั้งแรกของจังหวัดฟูกูโอกะ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเผยแพร่ศักยภาพผ้าไทยในญี่ปุ่น
 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2562 เวลา 16.00 – 18.00 น. สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ จัดงานแฟชั่นโชว์ หัวข้อ “Thai Textile : A Touch of Thai” ณ ห้อง Heian ชั้น 4 โรงแรมโอกูระ ฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ เส้นทางญี่ปุ่น โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ไทยในญี่ปุ่น ที่จัดขึ้นใน 3 เมือง เริ่มต้นจากกรุงโตเกียว นครโอซากา และปิดท้ายกิจกรรมที่เมืองฟูกูโอกะ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการแสดงแฟชั่นโชว์ร่วมสมัย ที่ออกแบบโดยนายประภากาศ อังศุสิงห์ ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงและเป็นเจ้าของห้องเสื้อ Hook’s by Prapakas ภายใต้แนวคิดเครื่องแต่งกายประเภทชุดกีฬาและชุดลำลอง โดยใช้ผ้าไหมอัศจรรย์ (Assajan Silk) ซึ่งทำจากเส้นไหมที่ทอกับเส้นใยรีไซเคิลมีคุณสมบัติป้องกันแบคทีเรียและแสงยูวี นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้กับผ้าไทยให้สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้หลากหลายวัตถุประสงค์
 
ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสะท้อนและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานการทอผ้าให้เป็นอาชีพของคนไทย นิทรรศการนำเสนอผ้าไทยและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าไทยประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการสาธิตการทอผ้าไทยจากนักทอผ้ารุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยนำผ้าทอจากเส้นไหมไทยมาถ่ายทอดเอกลักษณ์และความเป็นไทย โดยทอลงบนผืนผ้าได้อย่างประณีต สวยงาม รวมทั้งเน้นคุณสมบัติของไหมที่ทำให้ผ้าอ่อนนุ่ม มันวาว ดูดซับความชื้น ย้อมสีง่ายและสวมใส่สบาย นอกจากนี้ สมาพันธ์อุตสาหกรรมผ้าทอฮากาตะ จังหวัดฟูกูโอกะ ได้นำผ้าทอฮากาตะซึ่งเป็นผ้าทอท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของเมืองฟูกูโอกะ มาร่วมแสดงในนิทรรศการด้วย โดยผ้าทอฮากาตะมีลักษณะเด่นของเนื้อผ้าที่ละเอียด แน่น และทนทาน นิยมนำมาใช้เป็นสายรัดโอบิ (ผ้าคาดชุดกิโมโน) สะท้อนถึงความคล้ายคลึงของมรดกทางวัฒนธรรมที่ทั้งฝ่ายไทย
 
และญี่ปุ่นต่างให้คุณค่าแก่ผ้าของทั้งสองประเทศ ที่มีการใช้วัตถุดิบธรรมชาติ ผสมกับการสร้างสรรค์เทคนิคและศิลปะชั้นยอด และแสดงถึงมิตรไมตรีที่ไทยและญี่ปุ่นมีให้แก่กันการจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 160 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารท้องถิ่นของจังหวัดฟูกูโอกะ ได้แก่ นายมาซาชิ ฮารานากะ รอง ปธ. สภาจังหวัดฟูกูโอกะ นายมาซาโตะ โมริยะ ประธานสมาพันธ์ความสัมพันธ์ฉันมิตรไทย- ญี่ปุ่น สภาจังหวัดฟูกูโอกะ นายเคนจิโร่ ทาเคนามิ อธ.กรมความสัมพันธ์ต่างประเทศ สนง.จังหวัดฟูกูโอกะ นายคาสุกิ ทานาเบะ นายกเทศมนตรีเมืองโคกะ คณะกงสุลต่างประเทศในฟูกูโอกะ นักธุรกิจชั้นนำ เช่น นายโทชิฮิโกะ อาโอยากิ ประธานบริษัทการรถไฟคิวชู (JR Kyushu) นักธุรกิจในแวดวงสิ่งทอและแฟชั่น อาทิ นายซาดาโอะ เทราชิมะ ปธ.สมาพันธ์ผ้าทอฮากาตะ นางนาโอโกะ ฟูรูซาวะ ดีไซน์เนอร์และเจ้าของธุรกิจนำเข้าผ้าไหมและผ้าฝ้ายไทยในฟูกูโอกะ สื่อมวลชน ชุมชนไทย และชาวญี่ปุ่นที่มีความรักและความผูกพันกับประเทศไทย บรรยากาศการจัดงานเป็นไปอย่างรื่นรมย์ โดยมีดุริยางคศิลปิน จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และนักดนตรีไทยอิสระ บรรเลงเพลงจากเครื่องดนตรีไทย อาทิ ขลุ่ย ระนาด และซอ ผสมผสานกับเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการเรียบเรียงดนตรีเพลงไทย อาทิ เพลงค้างคาวกินกล้วย และเพลงญี่ปุ่น อาทิ เพลงซูบารุ และเพลงสุกี้ยากี้ ในรูปแบบใหม่ในลักษณะร่วมสมัย เพื่อสร้างบรรยากาศภายในงานอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานยังได้รับของที่ระลึกที่สะท้อนความเป็นไทย รวมทั้งเอกสารประชาสัมพันธ์ประเทศไทยจากสถานกงสุลใหญ่ฯ และหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ พวงกุญแจตุ๊กตาช้างจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานฟูกูโอกะ ถุงผ้าฝ้าย สมุดโน้ต กาแฟดริป จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แผ่นพับแนะนำร้านอาหารภายใต้โครงการ Thai Select จากสำนักงานผู้แทนการค้าไทยในฮิโรชิมะ รวมทั้งบริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน สำนักงานฟูกูโอกะ อนุเคราะห์ช่อกล้วยไม้กลัดอกประดับแก่ผู้ที่มาร่วมงานด้วย
 
อนึ่ง การจัดงานในครั้งนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ร่วมงาน โดยต่างประทับใจกับการออกแบบเสื้อผ้าของไทยที่สามารถนำมาสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งชื่นชมและรับทราบพัฒนาการของนวัตกรรมการผลิตผ้าไทยที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งานได้หลายรูปแบบ กิจกรรมครั้งนี้นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างดียิ่งของภารกิจของการทูตวัฒนธรรม ที่นำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย และเป็นโอกาสที่ดีในการนำมิติทางวัฒนธรรมของไทยหลายด้านมาประชาสัมพันธ์ผ้าไทยและประเทศไทยให้มีภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง สามารถนำไปต่อยอดและสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอนาคต รวมทั้งยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระดับประชาชนกับประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้ต่อไป

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ