ประธานศาลฎีกา ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อส่งผู้พิพากษาไปฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยคิวชู

ประธานศาลฎีกา ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อส่งผู้พิพากษาไปฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยคิวชู

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 501 view

ประธานศาลฎีกา ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อส่งผู้พิพากษาไปฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยคิวชู

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้มีโอกาสต้อนรับนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วยผู้บริหารศาลยุติธรรม ในโอกาสเดินทางเยือนจังหวัดฟูกูโอกะ เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับมหาวิทยาลัยคิวชู (Memorandum on the Diploma in Contemporary Legal Studies & the Master’s Degree in Laws (LL.M.)) โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือด้านวิชาการที่มีระหว่างกัน และส่งเสริมศักยภาพข้าราชการฝ่ายตุลาการของไทย จากการส่งผู้พิพากษาไปฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยคิวชูทั้งในระดับปริญญาโท และหลักสูตรอบรมระยะสั้น โดยได้ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงผู้พิพากษาจากประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ให้มีส่วนร่วมในหลักสูตรอบรมระยะสั้นด้วย

ที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรมของไทยมีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยคิวชูมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินโครงการ Young Leader Program (YLP) โดยความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นและสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งให้ทุนการศึกษาแก่ข้าราชการฝ่ายตุลาการของไทยให้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโททางกฎหมาย (LL.M) ที่มหาวิทยาลัยคิวชู (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) ปีละ 1 – 3 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการมีผู้รับทุน YLP มาแล้วทั้งสิ้น 26 คน โดยภายหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้รับทุนได้กลับมาปฏิบัติราชการในตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ ผู้พิพากษา อัยการ และนิติกรศาลปกครอง รวมทั้งโครงการฝึกอบรมระยะสั้น (Mini LL.M.) สำหรับข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านกฎหมายต่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายของญี่ปุ่น เพื่อนำมาเปรียบเทียบและพัฒนากฎหมายไทยให้ได้มาตรฐานในระดับสากล โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2552 มีผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร Mini LL.M. รวมทั้งสิ้น 186 คน

มหาวิทยาลัยคิวชู เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2454 หรือในรัชสมัยเมจิที่ 43 โดยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำเก้าแห่งของญี่ปุ่นในระบบ Imperial Universities (มหาวิทยาลัยหลวงที่ก่อตั้งขึ้นในยุคจักรวรดิญี่ปุ่น) อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยเกียวโต มหาวิทยาลัยโทโฮกุ มหาวิทยาลัยคิวชู มหาวิทยาลัยฮอกไกโด มหาวิทยาลัยเคโจ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล) มหาวิทยาลัยไทโฮกุ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน) มหาวิทยาลัยโอซากา และมหาวิทยาลัยนาโกยา  

อนึ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคิวชู ได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษเป็นแห่งแรกในญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 ปัจจุบัน มีนักศึกษาชาวไทยศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคิวชู ภาคการศึกษา พ.ศ. 2561 – 2562 ในระดับปริญญาโท 8 คน และระดับปริญญาเอก 1 คน

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ