สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ให้การต้อนรับและจัดการบรรยายสรุปให้แก่คณะกรรมาธิการคมนาคม และคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสเดินทางเยือนภูมิภาคคิวชู

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ให้การต้อนรับและจัดการบรรยายสรุปให้แก่คณะกรรมาธิการคมนาคม และคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสเดินทางเยือนภูมิภาคคิวชู

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 ธ.ค. 2565

| 540 view

ด้วยในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2565 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการคมนาคม และคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสเดินทางเยือนภูมิภาคคิวชู โดยนายโสรัจ สุขถาวร กงสุลใหญ่ฯ ได้จัดการบรรยายสรุปในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะกรรมาธิการฯ สรุปดังนี้

1. เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 จัดการบรรยายสรุปในหัวข้อ “การคมนาคมขนส่ง และสภาพเศรษฐกิจคิวชู” ให้คณะกรรมาธิการคมนาคม ซึ่งมีนายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่สอง สภาผู้แทนราษฎร เป็นหัวหน้าคณะฯ โดยกงสุลใหญ่ฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคคิวชู ซึ่งมีความได้เปรียบจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่นในการเป็น “ประตูสู่เอเชีย” รวมทั้งมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะระบบรางที่เป็นเอกภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจในภูมิภาค

2. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 จัดการบรรยายสรุปในหัวข้อ “แผนเผชิญเหตุในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ให้คณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ซึ่งมีนายวาโย อัศวรุ่งเรือง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่สอง สภาผู้แทนราษฎร เป็นหัวหน้าคณะฯ โดยกงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวสรุปภารกิจของสถานกงสุลใหญ่ฯ ในการดูแลและคุ้มครองคนไทย โดยเฉพาะกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งคณะฯ ได้ให้ความสนใจกับกรณีศึกษาของญี่ปุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดูแลนักท่องเที่ยวไทยในเขตอาณาซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการเปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ - ฟูกูโอกะ และการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศของไทยและญี่ปุ่น

ในโอกาสนี้ กงสุลใหญ่ฯ ยังได้หารือกับคณะฯ เกี่ยวกับการนำแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ (best practices) ของญี่ปุ่นไปปรับใช้ในประเทศไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอันเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาและยกระดับให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยต่อไป

จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับที่_88_ปี_2565_.pdf