สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีด้านการบริหารจัดการขยะของญี่ปุ่นให้แก่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและปาย

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีด้านการบริหารจัดการขยะของญี่ปุ่นให้แก่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและปาย

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ส.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ส.ค. 2567

| 496 view

เมื่อวันที่ 19-23 สิงหาคม 2567 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการขยะชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการแนะนำจากสำนักสิ่งแวดล้อม จังหวัดฟูกูโอกะ เดินทางไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะชุมชนของญี่ปุ่นให้แก่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและเทศบาลตำบลปาย เพื่อยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการขยะของเทศบาลทั้งสองแห่ง

ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นประกอบด้วย ศ. ดร. Koji TAKAKURA และนาย Ken SAWADA จาก Kitakyushu International Techno-cooperative Association (KITA) โดยทั้งสองคนมีประสบการณ์นับสิบปีในการช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านสิ่งแวดล้อมและการวางระบบบริหารจัดการขยะ

ในโอกาสนี้ นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนางสาวมัลลิกา จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน นายคณัสภูชิต แสนคำ นายกเทศมนตรีตำบลปาย และคณะเจ้าหน้าที่ของจังหวัดและเทศบาล ได้ให้การต้อนรับ และจัดกำหนดการต่าง ๆ ให้คณะได้รับทราบข้อเท็จจริงของพื้นที่ อาทิ บ่อฝังกลบขยะ และแหล่งกำเนิดขยะต่าง ๆ เช่น ตลาดสด “ถนนคนเดินเมืองปาย” ร้านอาหารและร้านค้า โรงพยาบาล และโรงเรียน

จากการลงพื้นที่ พบว่า เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนและตำบลปายให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการขยะชุมชน โดยมีแนวปฏิบัติหลายอย่างที่ดีอยู่แล้ว เช่น โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล โครงการผลิตปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ และโครงการ “ถนนปลอดถังขยะ” เป็นต้น โดยผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้แนะนำให้เทศบาลทั้งสองแห่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะของผู้ประกอบการและประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว รวมถึงการปลูกฝังแนวคิดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน เพื่อ “ลด” ปริมาณขยะที่จะไปสู่บ่อฝังกลบตามแนวคิด “ขยะเป็นศูนย์” (zero waste) เนื่องด้วยเห็นว่าเป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุดในการจัดการกับปัญหา โดยได้ยกตัวอย่างตำบลโอซากิ จังหวัดคาโกชิมะ ของประเทศญี่ปุ่น มาเป็นกรณีศึกษาของการลดขยะได้มากถึงร้อยละ 87 ในเวลาเพียง 9 ปี จากการดำเนินนโยบาย 3R (Reduce Reuse Recycle) อย่างจริงจัง

สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอขอบคุณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และเทศบาลตำบลปาย สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ และจะพิจารณาขยายผลโครงการนี้ไปยังท้องถิ่นอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับที่_86_ปี_2567.pdf