การเยือนจังหวัดโออิตะ

การเยือนจังหวัดโออิตะ

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ธ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 452 view

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 นายอัฐกาญจน์ วงศ์ชนะมาศ กงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ พร้อมด้วยข้าราชการสถานกงสุลใหญ่ฯ เข้าเยี่ยมคารวะนายโทโมมาสะ ฟูสึกะอิจิ (Tomomasa FUTSUKAICHI) รองผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะอย่างเป็นทางการ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานกงสุลใหญ่ฯ และโอกาสในความร่วมมือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจังหวัดโออิตะในด้านต่าง ๆ ในอนาคต

ในโอกาสเดียวกันนี้ กงสุลใหญ่ฯ ได้แสดงความขอบคุณที่ทางจังหวัดได้ให้การดูแลนักศึกษาไทยกว่า 300 คนที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยริตสึเมคัง เอเชีย-แปซิฟิก (Ritsumeikan Asia Pacific University หรือ APU) ซึ่งนับเป็น 1 ใน 5 ของกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดของมหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่านักศึกษาไทยจะมีบทบาทในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากนั้น กงสุลใหญ่ฯ และเจ้าหน้าที่ได้ไปร่วมงาน Thai Week 2018 ซึ่งจัดโดยนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยริตสึเมคังฯ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยที่ผ่านมานักศึกษาไทยได้จัดงาน Thai Week 2018 อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี มีการแบ่งหน้าที่ในการจัดกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และจัดการแสดงละครเวทีเรื่อง “แผลเก่า” โดยเป็นการนำบทประพันธ์มาประยุกต์และปรับเป็นภาษาอังกฤษ
ซึ่งเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ชมในหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยริทสึเมคังฯ (Millennium Hall) กว่า 250 คน

อนึ่ง จังหวัดโออิตะเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะเป็นแหล่งกำเนิดน้ำพุร้อนธรรมชาติมากเป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น จึงเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งออนเซ็นยอดนิยมของทั้งนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะที่เมืองยูฟูอินและเมืองเบปปุซึ่งมีน้ำพุร้อนหรือออนเซ็นที่มีชื่อเสียงมากจนทำให้จังหวัดโออิตะได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งออนเซ็นของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในปี 2562 จังหวัดโออิตะได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสนามจัดการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก (Rugby World Cup 2019) ซึ่งจะทำให้จังหวัดโออิตะเป็นที่รู้จักแพร่หลายมายิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาเข้าร่วมรับชมการแข่งขันดังกล่าว นอกจากนี้ โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Village One Product หรือ OVOP) ของหมู่บ้านโอยามาในจังหวัดโออิตะ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาสินค้าชุมชนเพื่อสร้างรายได้เสริมชาวบ้านในชุมชนยังเป็นต้นแบบของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป (OTOP) ของไทยอีกด้วย

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ