สถานกงสุลใหญ่ร่วมมือกับ METI คิวชูจัดสัมมนาทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับประเทศไทยแบบออนไลน์

สถานกงสุลใหญ่ร่วมมือกับ METI คิวชูจัดสัมมนาทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับประเทศไทยแบบออนไลน์

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 715 view

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประจำภูมิภาคคิวชู สังกัดกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) จัดสัมมนาทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับประเทศไทยแบบออนไลน์ หรือ Webinar

การสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประจำภูมิภาคคิวชู หรือ METI คิวชู เป็นเจ้าภาพหลัก ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์พัฒนาความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (National Center for Industrial Property Information and Training) สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นประจำคิวชู (Kyukeiren) และสำนักงาน JETRO ประจำคิวชู เพื่อให้ข้อมูลการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในไทยแก่ภาคเอกชนญี่ปุ่นในภูมิภาคคิวชู สำหรับการขยายธุรกิจและการลงทุนไปยังประเทศไทยต่อไป

ในการสัมมนาทั้ง 2 ครั้ง สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ได้ให้ความร่วมมือ โดยกงสุลใหญ่ฯ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดร่วมกับนายฮิยาซากิ มิเนโอะ อธิบดีกรมการต่างประเทศของสำนักงาน METI คิวชู และ กล่าวสุนทรพจน์ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจไทย นโยบายสำคัญของไทยในการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยสำหรับยุค Post COVID-19 ตลอดจน ข้อมูลความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับภูมิภาคคิวชู เพื่อให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นในภูมิภาคคิวชู รู้สึกมั่นใจและสนใจที่จะขยายธุรกิจ การค้า การลงทุนไปยังประเทศไทยมากขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงโตเกียว (BOI) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจที่ลงทุนในไทย รวมทั้ง หน่วยราชการญี่ปุ่นได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ การใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้า ข้อควรระวังเกี่ยวกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา และการถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ประกอบการภาคเอกชนของคิวชูที่เคยขยายธุรกิจไปไทยหรือเคยดำเนินธุรกิจในไทยด้วย

การสัมมนาทั้งสองครั้งนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีภาคเอกชนญี่ปุ่นในภูมิภาคคิวชูให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง ครั้งละประมาณ 70 ราย สาขาธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นในภูมิภาคคิวชูสนใจทำการค้าการลงทุนกับไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ และพลังงานหมุนเวียน

การจัดการสัมมนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อไทยในฐานะประเทศเป้าหมายและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สำคัญที่เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนขยายฐานธุรกิจ การค้า การลงทุนให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง สอดคล้องกับแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากจีน เพื่อกระจายความเสี่ยง และยังเป็นโอกาสดีของไทย ที่ได้ช่วยส่งเสริมและผลักดันการขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในมิติต่างๆ โดยพยายามกระตุ้นให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นพิจารณาการย้ายฐานการผลิตไปยังไทยมากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบของไทย ทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความพร้อมของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค และสิทธิประโยชน์ในการลงทุนด้านต่างๆ

ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ มีกำหนดจะจัดโครงการเสวนาทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความตระหนักรู้ประเทศไทยในหมู่ภาคธุรกิจเอกชนญี่ปุ่นในภูมิภาคคิวชูและจูโกะกุ (Webinar) ในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคคิวชู และจูโกะกุ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานทีมประเทศไทยในญี่ปุ่น ซึ่งจะร่วมให้ข้อมูลมิติต่างๆ ทั้งด้านการค้า การส่งเสริมการลงทุน การท่องเที่ยว และนโยบายของไทยที่ประสบความสำเร็จด้านต่างๆ เพื่อเป็นการต่อยอดและรักษาพลวัตของความสนใจของภาคเอกชนญี่ปุ่นในการขยายธุรกิจและการลงทุนในไทยต่อไป

อนึ่ง การเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย ถือเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่คณะรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศมอบหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิภาคคิวชูมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยมานานและหลากหลาย ภาคเอกชนจากคิวชูที่ขยายธุรกิจไปยังไทยแล้ว มีมากกว่า 70 บริษัท และดำเนินธุรกิจมานานหลายปี เช่น บริษัท Nishitetsu บริษัท JR Kyushu ธนาคารฟูกูโอกะ บริษัท Kyushu Electric บริษัท TOTO บริษัท Yasukawa บริษัท Bridgestone และบริษัท Nippon Steel รวมทั้งมีบริษัทผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพ ทั้งด้านการผลิตเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อาหารแปรรูป ที่เห็นความสำคัญของไทย ทั้งที่เป็นฐานการผลิต รวมทั้งเป็นตลาด ของผู้บริโภค ขนาดใหญ่ และเป็นตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ 3

จึงขอประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

PR13_สัมมนาทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับประเทศไทยแบบออนไลน์.pdf